“หมูบาบิรูซา” หรือ “หมูกวาง” (Babirusa, Deer pig) เป็นหมูสกุลหนึ่งชื่อสกุลว่า Babyrousa ในวงศ์ Suidae ซึ่งคำว่า “babi rusa” ในภาษาอินโดนีเซีย มีความหมายว่า “หมู” และ “กวาง” นั่นเอง
.
เป็นสัตว์ประจำถิ่นของอินโดนีเซีย ที่พบกระจายตามเกาะต่าง ๆ ตั้งแต่เกาะซูลาเวซี (Sulawesi) เกาะโตเกียน (Togian) เกาะซูลา (Sula) และ เกาะเบรู (Buru)
เดิมที่แล้วหมูบาบิรูซาถูกเรียกรวมกันเป็นหมูชนิดเดียวมาตลอด จนกระทั่งปี 2002 มันได้ถูกจำแนกออกเป็น 4 สายพันธุ์ และยังมีอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 30,000 ปีก่อน ซึ่งคาดว่าเป็นบรรพบุรุษของหมูบาบิรูซาที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง
.
โดยทั่วไปมักมีความสูงประมาณ 61 เซนติเมตร และมีลำตัวยาวราว 91 เซนติเมตร หางยาว 27 ถึง 32 เซนติเมตร สามารถมีน้ำหนักได้มากกว่า 100 กิโลกรัม แม้จะมีอายุในธรรมชาติราว 10 ปี แต่หากถูกเลี้ยงดูโดยมนุษย์อาจมีอายุมากถึง 24 ปีเลยทีเดียว
พวกมันมีสีลำตัวที่แตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด แต่ส่วนใหญ่แล้วบนร่างกายของมันมักจะไม่มีขนปกคลุม และเขี้ยวยาวที่เป็นจุดเด่นของมันจะพบแค่ในตัวผู้ สำหรับตัวเมียจะมีเขี้ยวสั้น หรืออาจจะไม่มีเขี้ยวเลย
หมูป่าเหล่านี้มีลักษณะที่แตกต่างจากหมูป่าทั่วไป โดยเฉพาะเขี้ยวของมัน ที่โค้งและยาวเป็นอย่างมากทั้งเขี้ยวบนและเขี้ยวล่าง ที่ชี้ขึ้นด้านบนทั้งหมด เขี้ยวบนของมันมีลักษณะชี้ขึ้นเกือบตั้งฉากกับกะโหลกศีรษะ อีกทั้งยังมีความโค้งเข้าหาลำตัวอีกด้วย
.
นั่นจะไม่เป็นปัญหาอะไรเลย ถ้าหากเขี้ยวของมันหยุดการเจริญเติบโต เมื่อมันโตเต็มที่ แต่เขี้ยวเหล่านี้จะยาวขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดชีวิตของมัน ซึ่งสามารถยาวได้มากกว่า 30 เซนติเมตรอีกด้วย แต่เขี้ยวสุดแปลกนี้ ถูกคาดว่าใช้ในการป้องกันตัว ไปจนถึงต่อสู้กันเองระหว่างตัวผู้
แต่อาวุธลับสุดยาวนี้ ก็เป็นเหมือนดาบสองคม ที่ทำร้ายตัวมันเองได้เช่นกัน เพราะการยาวขึ้นเรื่อย ทำให้หมูป่าบางตัวมีเขี้ยวโค้งยาวเข้ามายังใบหน้า จนเจาะเข้าไปยังกะโหลกได้เลย อีกทั้งการพุ่งชนกันระหว่างตัวผู้ด้วยกัน ก็เป็นส่วนหนึ่งให้เขี้ยวยาวของพวกมันเจาะเข้าไปในหัวตัวเองด้วยเช่นกัน
.
.
อย่างไรก็ตาม เจ้าพวกนี้มีนิสัยขี้อาย รักสันโดษ มักจะอยู่ตัวเดียวภายในป่าซะมากกว่า จะออกหาคู่เฉพาะฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น และในช่วงเวลานี้เองที่เหล่าตัวผู้จะเจอกัน และต่อสู้เพื่อแย่งตัวเมีย
.
มันกินอาหารได้หลากหลาย และแทบจะกินทุกอย่างที่พบตั้งแต่ใบไม้ ผลไม้ เบอรี่ ถั่ว เห็ด และแมลงหลาย ๆ ชนิด โดยใช้เท้าขุดดินหาตัวอ่อนแมลง หรือเกาะต้นไม้เพื่อกินใบไม้อีกด้วย
.
ตามธรรมชาติมักจะอาศัยอยู่ภายในป่าฝน โดยตลอดทั้งวันพวกมันมักจะนอนอยู่ตามโคลน หรือตามบึงภายในป่า โดยหากไม่ได้ออกไปหาอาหาร ก็มักจะนอนเฉย ๆ อยู่กับที่ทั้งวัน
สำหรับประชากรหมูบาบิรูซาในปัจจุบัน กำลังมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ จากการลักลอบล่า และการบุกรุกป่า ทำให้พื้นที่อาศัยของมันที่มีน้อยอยู่แล้ว ต้องลดลงไปอีก และกำลังเข้าสู่ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จนทำให้อินโดนีเซียกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามล่า และคุกคามพวกมันอีกต่อไป
.
.
Ref : SandiegoZoo, Thedodo, Nature, BrevardZoo, Wikipedia
Pic : Thedodo, BrevardZoo, JohnHall, Wikimedia, Pinterest
#ส่องโลกกว้าง
คลังภาพแกลอรี่
เราได้ทำการรวบรวมรูปภาพที่เกี่ยวกับ หมูบาบิรูซา ไว้ด้านล่างนี้แล้ว