‘หัวใส’ จนเห็นภายใน อยู่ในความลึกระดับ “ทไวไลท์ โซน”!

“ปลาแบร์เรลอาย” (Barreleye fish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macropinna microstoma เป็นปลาน้ำลึกที่อยู่ในวงศ์ Opisthoproctidae เป็นปลาที่กระจายตัวอยู่ในท้องทะเลที่มีความลึกกว่า 600 เมตรในมหาสมุทรแปซิฟิก

.

เดิมทีแล้วปลาชนิดนี้ถูกพบครั้งแรกในปี 1939 โดยบังเอิญ เป็นซากปลาที่ติดมากับอวนของชาวประมง ซึ่งมันเป็นปลาที่มีรูปร่างประหลาด และยังไม่ได้มีการค้นพบมาก่อน แต่หลังจากครั้งแรกที่ถูกค้นพบ ก็ไม่มีการพบมันอีกเลยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

.

จนมาในปี 2004 จากสายพันธุ์ปลาที่ถูกพบเมื่อ 65 ปีก่อนจนหลาย ๆ คนคิดว่ามันสูญพันธุ์ไปแล้ว ในที่สุด สถาบันวิจัยพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมอนเทอเรย์เบย์ (MBARI) ก็หาพวกมันพบอีกครั้งแบบตัวเป็น ๆ ซึ่งอยู่ภายในบริเวณน่านน้ำแคลิฟอร์เนียกลาง และในที่สุดนักวิจัยก็ได้ทำการศึกษาพวกมันอย่างละเอียดได้สักที (วีดีโอ MBARI)

.

ปลาชนิดนี้ขึ้นชื่อเรื่องลักษณะที่โดดเด่น โดยเฉพาะบริเวณหัวของมัน ที่มีหัวที่มีความโปร่งใสเห็นถึงอวัยวะภายใน ซึ่งเราจะเห็นถึงอวัยวะกลม ๆ สีเขียว 2 ก้อน ก็คือดวงตาของมันนั่นเอง แต่จุดกลม ๆ ที่อยู่ส่วนปลายหัวที่มีลักษณะคล้ายดวงตาของปลาทั่ว ๆ ไปนั้นกลับเป็นจมูกของมันซะงั้น

.

ปลาชนิดนี้เป็นปลาขนาดเล็ก ที่มีความยาวลำตัวราว 10 ถึง 15 เซนติเมตร ซึ่งคาดว่ามันอาศัยอยู่ในความลึกตั้งแต่ 600 ถึง 800 เมตร ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า “ทไวไลท์โซน” (Ocean Twilight Zone) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “จุดเอเลี่ยน” เนื่องจากเป็นบริเวณท้องทะเลที่แสงส่องแทบไม่ถึง อีกทั้งสิ่งมีชีวิตนานาชนิดที่ถูกพบในบริเวณนี้ยังมีหน้าตาสุดประหลาดอีกด้วย

.

.

โดยทั่วไปปลาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มืดเช่นนี้ มักจะมีความสามารถในการเรืองแสง ที่ถูกใช้ในการระบุตำแหน่ง การจับคู่ ไปจนถึงการล่าเหยื่อ ซึ่งปลาชนิดนี้ก็มีเช่นกัน โดยมันประยุกต์ใช้แสงในที่มืดต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์กับตนเอง ด้วยเกล็ดด้านล่างลำตัวของมันที่เป็นสีเงินสะท้อนแสง ซึ่งทำให้การที่นักล่าจากด้านล่างจะระบุตำแหน่งของมัน จะถูกเบี่ยงเบนแสงไปจากตำแหน่งจริงนั่นเอง

.

อีกทั้งหัวที่โปร่งใส และดวงตาสีเขียวที่ดูแปลกตานี้ ไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเฉย ๆ เพราะมันทำให้เจ้าปลาชนิดนี้สามารถมองเห็นได้กว้างขึ้นนั่นเอง ดวงตาที่หมุนได้รอบทิศ และหัวที่โปร่งใส จึงมองเห็นได้เกือบรอบตัว แม้แต่มองขึ้นไปด้านบนก็ตาม ยกเว้นเพียงด้านล่าง และด้านหลัง ที่มองไม่เห็น โดยที่ไม่จำเป็นต้องหันหัวไปไหนเลย

.

นอกจากนี้ดวงตาสีเขียวของมันยังสามารถเรืองแสงออกมาเพื่อล่อเหยื่อจำพวกกุ้ง หรือสัตว์น้ำขนาดเล็กให้เข้ามาใกล้ เพื่อกินเป็นอาหารได้อีกด้วย

จริง ๆ แล้วปลาแบร์เรลอาย ไม่ได้มีแค่สายพันธุ์นี้เพียงชนิดเดียว แต่มีเกือบ 20 สายพันธุ์ทั่วโลก ในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก ไปจนถึงมหาสมุทรอินเดีย ที่ความลึกตั้งแต่ 400 ถึง 2,500 เมตรเลยทีเดียว แต่ก็จะมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และยังคงเป็นปลาน้ำลึกจำพวกหนึ่งที่พบตัวได้ยากเช่นกัน

.

.

.

 

Ref : Fishbase, Sci-news, Mbari, Flagfrog, Wikipedia
Pic : Fishbase, Researchgate, Mbari, 10tons, Wikimedia, Pinterest
#ส่องโลกกว้าง

 

คลังภาพแกลอรี่

เราได้ทำการรวบรวมรูปภาพที่เกี่ยวกับ ปลาแบร์เรลอาย ไว้ด้านล่างนี้แล้ว