‘นักสู้ทีมเวิร์ค’ แห่งแอฟริกา แม้แต่สัตว์มีพิษก็ทำไรไม่ได้!

“เมียร์แคต” (Meerkat, Suricate) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Suricata suricatta เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์พังพอน (Herpestidae) เป็นสัตว์ที่พบได้ในพื้นที่ตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ตั้งแต่บอตสวานา นามิเบีย แองโกลา และแอฟริกาใต้

.

มันมีขนาดตัวที่เล็กค่อนข้างยาว คล้ายกับกระรอก โดยมีลำตัวยาวประมาณ 24 ถึง 35 เซนติเมตร และมีหางยาว 17 ถึง 25 เซนติเมตร โดยมีน้ำหนักตัวราว 0.62 ถึง 0.97 กิโลกรัมเท่านั้นเอง

หัวกว้าง ดวงตาใหญ่ จมูกแหลมไปด้านหน้า ขาทั้งสี่เรียวยาว ขนรอบตัวมีลายเป็นสีเทาอ่อน ไปจนถึงสีน้ำตาลเหลือง โดยมีแถบสีอ่อน และสีเข้มแนวนอนสลับกันบนหลัง

เท้าคู่หน้าของมันมีกรงเล็บที่แข็งแรง ที่ใช้ในการขุดดิน ทำเป็นโพรงในการอยู่อาศัย เนื่องจากมันอาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งทางตอนใต้ของแอฟริกา ทั้งนี้ภายในโพรงของมันอาจมีความกว้างมากถึง 5 เมตร ที่มีทางเชื่อมไปมามากมาย

.

ความสามารถในการขุดโพรงนี้ยังเป็นสิ่งที่มันใช้ในการหาอาหารอีกด้วย โดยมันกินแมลงหลากหลายชนิด สัตว์ขนาดเล็ก อีกทั้งมันยังกินสัตว์มีพิษอย่างแมงป่องได้อีกด้วย

เนื่องจากมันเป็นสัตว์สังคมที่อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ซึ่งอาจมีมากถึง 30 ตัวเลยทีเดียว ซึ่งหากโพรงของมันอยู่ติดกัน จะทำการเชื่อมต่อทางเข้ากันใต้ดิน อีกทั้งยังมีความลึกหลากหลายระดับอีกด้วย นอกจากนี้แต่ละฝูงยังมีอาณาเขตกว้างขวางได้ถึง 5 ตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว

.

อย่างที่เราทราบกันดีว่า พังพอนเป็นสัตว์ที่สามารถทนพิษร้ายแรงจากงูได้ ซึ่งเมียร์แคตนั้นก็เป็นสัตว์ภายในวงศ์พังพอนอีกด้วย นั่นจึงทำให้มันสามารถทนกับสัตว์มีพิษได้

แต่ความสามารถในการต้านทานพิษของมันไม่ได้แข็งแกร่งมากขนาดนั้น เพียงแค่ทนต่อพิษแมงป่อง และพิษงูที่ไม่แรงมากบางชนิดเท่านั้นเอง แต่ในพื้นที่แห้งแล้งแห่งนี้นั้นเต็มไปด้วยสัตว์มีพิษเป็นจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่สามารถสู้กับงูแบบตัวต่อตัวได้อย่างแน่นอน

เมื่อกำลังกายสู้ไม่ได้ แต่มันมีไม้ตายอยู่ที่จำนวน เมื่อมีผู้บุกรุกเข้ามาภายในอาณาเขตที่อยู่อาศัย ศัตรูเหล่านั้นก็จะต้องเจอกับเมียร์แคตจำนวนหลายสิบตัว เข้ามารุมล้อมในทันที มันจะพองขน ชูหาง ข่มขู่ศัตรู เพื่อทำให้กลัวและหนีไป

แม้ว่าเมียร์แคตจะต่อสู้ไม่เก่งนัก และไม่มีอาวุธร้ายแรงจัดการศัตรูก็ตาม แต่คติที่ว่า “เก่งไม่กลัว กลัวมาเยอะ” ก็น่าจะใช้ได้ผลกับศัตรูไม่น้อย เพราะถ้าหากมันไม่ยอมหนีไปละก็อาจจะโดนกรงเล็บเท้าหลายสิบคู่ที่ล้อมอยู่ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตามพวกมันมักจะไม่สู้ หากไม่จำเป็นจริง และไล่ให้ศัตรูหนีไปมากกว่า หากผู้บุกรุกเหล่านั้นไม่ใช่อาหาร แม้มันจะทนพิษได้ก็ตาม แต่มักจะไม่เข้าไปยุ่งกับงู เพราะงูไม่ใช่อาหาร แต่สำหรับแมงป่องถือว่าเป็นอาหารโปรดเลยทีเดียว

.

นอกจากนี้มันยังมีการเรียนรู้ในการกินแมงป่องตั้งแต่เด็กอีกด้วย โดยพ่อแม่จะสอนลูก ๆ ในการกินแมงป่องโดยไม่ได้รับพิษจากต่อมหางตั้งแต่เล็ก ๆ แม้ว่าภายในตัวแมงป่องจะมีพิษเหลืออยู่ก็ตาม นั่นก็ไม่สามารถทำอะไรมันได้ หากไม่ได้รับพิษโดยตรงจากต่อมนั้น

.

อีกทั้งเมียร์แคตยังเป็นที่รู้จักกันดีในด้านประสาทสัมผัสที่ดีเยี่ยม ที่สามารถรับเสียงได้ไกลถึง 50 เมตร และการดมกลิ่นที่มีประสิทธิภาพในการหาอาหาร และยังมีดวงตาที่ลดแสงส่วนเกินในเวลากลางวัน ทำให้มันสามารถมองเห็นได้ดีขึ้นอีกด้วย

.

ถ้าหากขาดทักษะการเอาตัวรอดเหล่านี้ไป เจ้าสัตว์ตัวจิ๋วเหล่านี้ก็คงใช้ชีวิตในพื้นที่แห้งแล้งสุดอันตรายแห่งนี้ไม่ได้อย่างแน่นอนเลย

.

 

Ref : NationalGeographic, SanDiegoZoo, Animalfactguide, Flagfrog, Wikipedia
Pic : BBC, NHM, Storytrender, NationalGeographic, Wikimedia, Pinterest
#ส่องโลกกว้าง

 

คลังภาพแกลอรี่

เราได้ทำการรวบรวมรูปภาพที่เกี่ยวกับ เมียร์แคต ไว้ด้านล่างนี้แล้ว