‘ด้วงเหล็กปีศาจ’ โครตอึด รับน้ำหนักได้ราวกับยอดมนุษย์!

เราอาจจะเคยเห็นเหล่าซูปเปอร์ฮีโร่ตามภาพยนตร์ ผู้มีพลังสุดแข็งแกร่ง สามารถยกของหนักกว่าตนเองหลายเท่าได้ อีกทั้งยังมีร่างกายสุดทนทานปราศจากบาดแผล แม้จะสู้กับเหล่าร้าย แต่จริง ๆ แล้วบนโลกของเราก็มีสัตว์ที่มีพลังพิเศษในลักษณะนี้อยู่เช่นกัน และเมื่อเทียบกับขนาดตัวของมันแล้ว อาจเรียกได้ว่า มันเทียบเท่ากับยอดมนุษย์ในภาพยนตร์เลยทีเดียว

“ด้วงเกราะเหล็ก” (Diabolical ironclad beetle) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nosoderma diabolicum หรือ Phloeodes diabolicus เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ในวงศ์ Zopheridae

เป็นด้วงที่สามารถพบได้ในเขตทะเลทรายทางตะวันตกของอเมริกาเหนือ (North America) ซึ่งมักจะพบใต้เปลือกไม้ ร่องไม้ที่มีเห็ดรา หรือเชื้อราขึ้นอยู่

เป็นแมลงขนาดเล็กที่มีขนาดตัวเพียง 2.5 เซนติเมตร แม้มันจะขึ้นชื่อว่าเป็นแมลงปีกแข็ง และมีปีกอยู่ด้านหลังก็ตาม แต่มันไม่สามารถบินได้ และทำได้เพียงเคลื่อนที่ด้วยการเดินไปอย่างช้า ๆ เท่านั้นเอง

มันไม่ใช่สัตว์ที่มีสีสันอันโดดเด่นจนน่าจดจำ เพราะตัวมันมีเพียงสีเทาดำเรียบ ๆ ทั่วทั้งตัว รูปร่างแบน ผิวก็ดูขรุขระ แต่เจ้าด้วงชนิดนี้ ถือว่าเป็นแมลงปีกแข็งอย่างแท้จริงเลยก็ว่าได้ เพราะมันก็แข็งจริง ๆ นั่นละ

มันเป็นที่รู้จักกันดีในความอึด ทึก ทน ของร่างกายของมัน ที่มีเปลือกแข็งห่อหุ้มร่างกาย จึงสามารถทนต่อแรงมหาศาลที่มาทับตัวมันได้ แม้แต่รถทับมันก็ยังสามารถรอดมาได้เลยทีเดียว

นั่นจึงทำให้นักวิจัยเกิดสนใจในตัวเจ้าแมลงจิ๋วตัวนี้ ว่าทำไมมันถึงรับน้ำหนักได้มากขนาดนั้น จึงได้เกิดการทดลองด้วยการขับรถทับถึง 2 ครั้ง แต่ผลปรากฏว่าเจ้าแมลงตัวนี้ก็ยังอยู่ได้สบาย ราวกับว่าเหยียบก้อนหินก้อนหนึ่งอย่างนั้นเลย

.

เมื่อตรวจสอบโครงสร้าง เพื่อหาความลับของความแข็งแกร่งนี้ ก็พบว่า Elytra ที่เป็นแผ่นหนังหนาปกคลุมด้านบนปีกมีความแตกต่างจากด้วงทั่วไป

โดยปกติเป็นปีกที่มีความแข็ง แต่เจ้านี้มันดันมีปีกที่บินไม่ได้ เนื่องจากถูกวิวัฒนาการเป็นเกราะที่มีความแข็งแรงสูงมาก จึงเชื่อมติดกันกับปีกด้านในไปด้วยนั่นเอง

และเมื่อตรวจสอบลึกลงไปถึงโครงสร้างภายใน พบว่า มีไคติน เส้นใย และเมทริกซ์โปรตีนมากกว่าปกติถึง 10 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งโครงสร้างของรอยต่อระหว่างกันของปีกที่เหมือนข้อต่อ

การเชื่อมกันราวกับจิ๊กซอว์นี้ อีกทั้งยังมี Microtrichia ขนขนาดเล็กด้านบน ที่ช่วยลดแรงเสียดทาน ทำให้รับน้ำหนักได้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถแยกออกจากกันได้ชั่วขณะเพื่อกระจายน้ำหนักได้อีกด้วย

.

.

ซึ่งนั่นทำให้มันสามารถทนต่อแรงกดทับได้มากกว่า 149 นิวตันเลยทีเดียว หรือคิดเป็น 39,000 เท่าของน้ำหนักตัวมันเลยทีเดียว ก็ถ้าเทียบกับมนุษย์น้ำหนักตัวทั่วไป ก็อาจจะสามารถรองรับน้ำหนักของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ 2 ลำพร้อม ๆ กันได้เลยทีเดียว

นั่นจึงทำให้การศึกษาโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ในอนาคตเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะได้นำหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับเครื่องมือ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ของมนุษย์นั่นเอง

.

 

Ref : Theguardian, Wired, Researchgate, Flagfrog, PurdueEngineering, Wikipedia
Pic : Researchgate, Nature, Wired, EOL, PurdueEngineering, Wikimedia, Pinterest
#ส่องโลกกว้าง

 

คลังภาพแกลอรี่

เราได้ทำการรวบรวมรูปภาพที่เกี่ยวกับ ด้วงเกราะเหล็ก ไว้ด้านล่างนี้แล้ว